ศิลปะจะพลิกโลกทั้งใบ? อย่างไร (เจ.อาร์ Ted Prize)

ศิลปินกึ่งนิรนามชาวฝรั่งเศส "เจอาร์" ใช้กล้องของเขาในการแสดงโฉมหน้าที่แท้จริงของโลกใบนี้ โดยการแปะรูปใบหน้าคนบนผืนผ้าขนาดใหญ่ ในงานสัมมนา TED2011 เขาได้แสดงความปราถนาที่จะพลิกโลกทั้งใบด้วยศิลปะ ในฐานะผู้รับรางวัล TED Prize ประจำปี 


สองอาทิตย์ก่อน ผมอยู่ที่สตูดิโอของผมในปารีส และเสียงโทรศัพท์ผมดังขึ้น เสียงที่ออกมาบอกว่าผมว่า "สวัสดี เจอาร์ คุณได้รับรางวัล TED Prize 2011 นะ คุณสามารถขออะไรก็ได้อย่างหนึ่ง เพื่อรักษาโลกนี้เอาไว้" ผมถึงกับเอ๋อเลย ผมจะรักษาโลกนี้ไว้ได้ยังไง ไม่มีใครทำได้หรอก โลกนี้มันเละตุ้มเป๊ะไปแล้ว ลองนึกดูสิ เรามีเผด็จการพยามจะครองโลก ประชากรเพิ่มขึ้นเป็นล้านๆคน ในทะเลก็ไม่มีปลาเหลือ น้ำแข็งขั้วโลกก็กำลังละลาย และผู้รับรางวัล TED Prize เมื่อปีที่แล้วก็ยังบอกว่า พวกเราทุกคนกำลังเป็นโรคอ้วน (เสียงหัวเราะ) แต่อาจจะยกเว้นคนฝรั่งเศสไว้ได้นะ ช่างมันเถอะ ผมก็เลยโทรกลับไป แล้วบอกว่า "เอมี่ ฟังนะ บอกคนที่จัดงาน TED ว่า ผมจะไม่ไปรับรางวัลนะ ผมกู้โลกนี้ไว้ไม่ได้หรอก" เธอบอกผมว่า "เจอาร์... คุณไม่ต้องกู้โลกใบนี้ แค่เปลี่ยนมันก็พอ" "อ้าวหรอ ถ้างั้นก็โอเคนะ" (เสียงหัวเราะ) "มันคงเจ๋งดี" ผมคิดว่าเทคโนโลยี การเมือง ธุรกิจ มันเปลี่ยนแปลงโลกได้นะ อาจจะไม่ใช่ทางที่ดี แต่มันก็เปลี่ยนโลก แล้วศิลปะล่ะ? ศิลปะ จะเปลี่ยนโลกได้ไหม?


01:11
ผมเริ่มต้นเมื่อตอนอายุ 15 ขวบ ในตอนนั้น ผมไม่ได้คิดจะเปลี่ยนแปลงโลกหรอก ผมก็แค่ทำกราฟิตี้ของผมเรื่อยไป เขียนชื่อผมไปซะทุกที่ ใช้เมืองทั้งเมืองเสมือนผ้าใบ ผมมุดอุโมงค์ปารีส หรือไปบนดาดฟ้ากับเพื่อน แต่ละทริปเป็นเหมือนการท่องเที่ยว มันเป็นการผจญภัย มันเป็นเหมือนการทิ้งสัญลักษณ์ไว้บนสังคม เพื่อบอกว่า "ฉันมาที่นี่แล้ว" บนดาดฟ้าของตึก


01:39
ผมไปเจอกล้องราคาถูกๆตัวหนึ่งบนรถไฟใต้ดิน ผมก็เลยเริ่มบันทึกการผจญภัยของผมกับแก๊งเพื่อน แล้วอัดรูปมาแจกเพื่อนๆของผม เป็นรูปเล็กๆ แค่นี้เอง พอผมอายุ 17 ปี ผมก็เริ่มแปะมัน และผมก็ได้ทำ เอ็กซ์โป เดอ รูห์ ซึ่งแปลว่า นิทรรศการข้างถนน และผมก็จะตีกรอบรูปด้วยสี คุณจะได้ไม่สับสนมันกับโฆษณาต่างๆ มันเป็นนิทรรศการภาพที่ดีที่สุดในเมืองที่ผมพอจะนึกได้เลย ผมไม่จำเป็นต้องจัดทำหนังสือ แล้วส่งให้หอศิลป์ต่างๆ และให้เขาตัดสินใจ ว่างานของผมดีพอที่จะแสดงให้คนอื่นดูหรือเปล่า คนทั่วไปเป็นคนตัดสินใจดูมันเอง บนท้องถนนนี่แหละ


02:29
และนั่นคือเรื่องของผมที่ปารีส ผมจะเปลี่ยนชื่อนิทรรศการ ไปเรื่อยๆ ตามสถานที่ที่ผมไป อันนี้อยู่ที่ ฌ็องเซลิเซ่ ผมภูมิใจงานชิ้นนี้มากนะ เพราะผมเพิ่งจะอายุ 18 เอง และผมก็ไปอยู่บนยอดของ ฌ็องเซลิเซ่ เมื่อรูปถูกปลดออก กรอบผมก็ยังอยู่


02:49
(เสียงหัวเราะ)


02:51
ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2005 ถนนลุกเป็นไฟ ผู้ก่อจลาจลจำนวนมหาศาล กำลังก่อให้เกิดโกลาหลในปารีส ทุกคนจับจ้องอยู่ที่หน้าจอทีวี มองภาพที่น่าวิตก และน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ภาพเหล่านี้ถูกถ่ายมาจากชาวบ้าน โดยปราศจากการควบคุม เด็กเหล่านี้ โยนระเบิดขวด โจมตีตำรวจและนักดับเพลิง ขโมยทุกอย่างที่เห็นในร้านรวง พวกนี้เป็นอาชญากร ขโมย เป็นบุคคลอันตราย ทำลายบ้านเมืองของตนเอง


03:26
ผมเลยคิดว่า มันเป็นไปได้ไหม ที่รูปของผมบนกำแพง ซึ่งถูกส่องสว่างโดยรถที่กำลังเผาไหม้ เป็นรูปที่ผมแปะไว้ปีก่อน อย่างผิดกฎหมาย และยังคงอยู่ตรงนั้น นี่คือรูปโฉมหน้าของเพื่อนๆผม ผมรู้จักคนพวกนั้น พวกเขาไม่ใช่นางฟ้าหรือเทวดา แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ปีศาจร้ายเช่นกัน มันเป็นความรู้สึกแปลกๆที่จะได้เห็น รูปเหล่านั้น และสายตาของคนในรูป จ้องมองผมผ่านโทรทัศน์


03:56
ผมเลยกลับไปที่นั่น ด้วยกล้องเลนส์ 28 มม. มันเป็นกล้องตัวเดียวที่ผมมีในตอนนั้น แต่ด้วยเลนส์นั้น คุณจะต้องอยู่ห่างจากตัวแบบได้แค่ 10 นิ้ว ดังนั้น คุณจะถ่ายรูปได้ ก็ด้วยความเชื่อใจเท่านั้น ที่ เลอ โบสเก้ ผมถ่ายรูปใบหน้าคนมาสี่รูป เป็นรูปคนกำลังทำหน้าตาน่ากลัว เพื่อล้อเลียนตัวของพวกเขาเอง แล้วผมก็อัดรูปออกมาขนาดใหญ่ๆ แปะไปทุกที่ ในชุมชนชนชั้นกลางของปารีส พร้อมกับชื่อ อายุ แม้กระทั่งที่อยู่ ของคนในรูป หนึ่งปีต่อมา นิทรรศการถูกจัดแสดงขึ้นหน้าศาลากลางของปารีส และเราก็ได้ถ่ายภาพ ของคนที่ถูกบิดเบือนโดยสื่อต่างๆ ให้ได้ภาพที่เป็นตัวตนของเขาจริงๆ ตอนนั้นแหละที่ผมเข้าใจ ถึงพลังของกระดาษและกาว แล้วศิลปะเปลี่ยนโลกได้หรือยัง?


05:18
ปีต่อมา ผมได้ข่าวต่างๆนานา เกี่ยวกับความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เชื่อผมสิ ในตอนนั้น มันถูกเรียกว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เท่านั้น ผมกับเพื่อนของผม มาร์โก เลยตัดสินใจไปที่นั่น เพื่อหาคำตอบ ว่าใครคือชาวปาไลสไตน์ ใครคือชาวอิสราเอล เขาแตกต่างกันแค่ไหนเชียว? เมื่อเราไปถึง เราก็ออกเดินตามท้องถนน คุยกับคนมากมาย และเราก็เข้าใจว่าสิ่งต่างๆที่นี่ มันไม่เหมือนกับที่เราได้ยินจากสื่อ เราจึงถ่ายภาพคนเหล่านี้ ทั้งชาวปาเลสไตน์ และชาวอิสราเอล ที่ประกอบอาชีพเดียวกัน คนขับแท๊กซี่บ้าง นักกฎหมายบ้าง พ่อครัวบ้าง โดยขอให้เขาทำหน้าตาที่จริงใจที่สุด ยังไงก็ได้ แต่ไม่เอารูปยิ้มนะ มันบอกอะไรไม่ได้เลย ว่าคุณเป็นใคร หรือคุณรู้สึกยังไง พวกเขาทั้งหมดยินยอม ที่จะให้แปะรูปของเขาข้างๆรูปคนอื่น ผมตัดสินใจที่จะแปะ ในเมืองของทั้งสองประเทศ อย่างละแปดเมือง บนกำแพงทั้งสองฝั่ง ในตอนนั้น เราได้เปิดตัวนิทรรศการผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในโลก เราเรียกมันว่า โปรเจกต์ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน


06:25
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า "ไม่มีทางหรอก ชาวบ้านไม่ยอมแน่ๆ ทหารจะยิงคุณ และพวกฮามาสจะลักพาตัวคุณแน่ๆ" เราเลยบอกว่า "โอเค ลองทำเท่าที่เราจะทำได้ดู" ผมชอบเวลาที่คนถามผม "รูปผมจะใหญ่แค่ไหน?" "มันจะใหญ่เท่าบ้านคุณเลยล่ะ" ตอนเราแปะรูปในฝั่งปาเลสไตน์ เรามีเพียงบันไดอันเดียว และเราก็เพิ่งจะรู้ว่า มันสูงไม่พอ ชาวปาเลสไตน์แถวนั้นเลยบอกว่า "ใจเย็นๆนะ เดี๋ยวผมช่วยคุณ" และเขาก็ไปที่โบสถ์ เอาบันไดเก่าๆมาอันหนึ่ง มันเก่ามากจนอาจจะอยู่ทันตอนพระเยซูเกิดก็ได้ (เสียงหัวเราะ) เราทำโปรเจกต์ "ต่อหน้าต่อตา" นี้กับเพื่อนเพียงหกคน บันไดสองอัน แปรงสองด้าม รถเช่าหนึ่งคัน กล้องหนึ่งตัว และกระดาษเกือบ 2,000 ตารางเมตร เราได้ความช่วยเหลือทุกรูปแบบ จากทุกๆคน


07:24
ลองยกตัวอย่างนะ นี่คือชาวปาเลสไตน์ เราอยู่ใน รามาลลาห์ เราแปะรูปของพวกเราอยู่ รูปทั้งสอง ในตลาดที่ผู้คนเดินขวักไขว่ ผู้คนเดินมาถามเราว่า "คุณกำลังทำอะไรกันอยู่?" "อ๋อ เรากำลังทำโปรเจกต์ศิลปะน่ะ เรากำลังแปะรูปชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทำอาชีพเดียวกัน นี่เป็นรูปของคนขับแท๊กซี่ทั้งสอง แล้วการสนทนาก็ถูกกลืนด้วยความเงียบ "คุณกำลังแปะรูปชาวอิสราเอล ทำหน้าทำตา ตรงนี้เนี่ยนะ?" "ก็ ประมาณนั้นแหละ" และผมก็จะปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนั้น และเราก็ถามเขาว่า "คุณช่วยบอกผมได้ไหม ใครเป็นใคร?" และคนส่วนใหญ่ก็บอกไม่ได้หรอกครับ


08:05
(เสียงปรบมือ)


08:11
เราเคยแปะรูปบนหอตรวจการณ์ของทหารด้วยนะ และก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เวลาที่คุณแปะรูป มันก็เป็นแค่กระดาษกับกาว คุณสามารถฉีกมันทิ้ง ขีดฆ่า หรือฉี่รดมันก็ได้ อาจจะเว่อร์ไปนิดนึง เอาจริงๆ แต่ผู้คนบนท้องถนนนั่นแหละ คือภัณฑารักษ์ให้รูปของผม ฟ้าฝนและลมจะดึงภาพเหล่านี้ออกอยู่แล้ว และเราก็ไม่ได้ตั้งใจให้มันอยู่ตลอดไป แต่สี่ปีต่อมา รูปส่วนใหญ่ ก็ยังคงอยู่ที่เดิม โปรเจกต์ต่อหน้าต่อตานี้ แสดงให้เห็น ว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ก็เป็นไปได้ เอาจริงๆ เกิดขึ้นได้ง่ายๆด้วยสิ เราไม่ได้บีบรั้งใคร เราแค่แสดงให้เห็นว่า เราไปไกลกว่าที่ทุกคนคิด


08:52
ในตะวันออกกลาง ผมได้แสดงงานของผม ในสถานที่ต่างๆ โดยไม่ต้องมีพิพิธภัณฑ์ ผมว่างานเหล่านี้ มันน่าสนใจดีนะ ผมเลยเดินหน้าต่อ ไปยังที่ที่ไม่มีพิพิธภัณฑ์เลย เมื่อคุณไปยังสังคมที่กำลังพัฒนา ผู้หญิงเป็นส่วนสำคัญของชุมชน แต่กลับเป็นผู้ชายที่ยังยึดครองถนนเอาไว้ เราเลยมีแรงบันดาลใจที่จะทำโปรเจกต์ ที่ผู้ชาย จะสรรเสริญผู้หญิง โดยการแปะรูปของพวกเธอ ผมเรียกโปรเจกต์นี้ว่า ผู้หญิงคือฮีโร่ เมื่อผมรับฟังเรื่องราวต่างๆ ทุกที่ที่ผมไปในทวีป ผมไม่สามารถเข้าใจถึงความขัดแย้ง ที่แสนจะซับซ้อนได้ทุกอัน ผมได้แต่เฝ้ามอง บางทีมันไม่มีคำบรรยาย ไม่มีสักประโยค มีแต่น้ำตาเท่านั้น ผมก็ถ่ายรูปพวกเขา แล้วแปะรูปเอาไว้


09:56
โปรเจกต์ผู้หญิงคือฮีโร่ พาผมไปทั่วโลก สถานที่ส่วนใหญ่ที่ผมไป คือที่ที่ผม ได้ยินเรื่องราวจากทางสื่อ ยกตัวอย่างในเดือนมิถุนายน 2008 ผมดูทีวีอยู่ในปารีส แล้วผมก็ได้ยินเรื่องที่แสนน่ากลัว ที่เกิดขึ้นใน ริโอ เดอ จาเนโร ในสลัมแห่งแรกของบราซิล โปรวิเดนเซีย มีนักเรียนสามคน ถูกจับกุมตัวโดยทหาร เพราะพวกเขาไม่มีหลักฐานแสดงตน พวกทหารก็จับเขา และแทนที่จะส่งเด็กเหล่านี้ให้กับตำรวจ กลับส่งไปยังสลัมของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเด็กเหล่านี้ถูกเชือดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ผมตกใจมาก คนทั้งบราซิลก็ตกใจสุดขีด ผมได้ยินมาว่ามันเป็นสลัมที่มีความรุนแรงมากที่สุด เพราะมีแก๊งค์ค้ายาที่ใหญ่ที่สุดควบคุมมันอยู่ ผมเลยตัดสินใจไปที่นั่น


10:46
เมื่อผมไปถึง คือผมไม่ได้ติดต่อกับเอ็นจีโอที่ไหนเลย ที่นั่นไม่มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งบริษัททัวร์ เอ็นจีโอ ไม่มีเลย ไม่มีพยานที่จะรู้เห็นในเหตุการณ์อะไรก็ตาม เราเดินไปรอบๆ และพบกับผู้หญิงคนหนึ่ง ผมหยิบหนังสือของผมให้เธอดู เธอบอกว่า "คุณรู้ไหม? เรากำลังกระหายวัฒนธรรม เราต้องการวัฒนธรรมที่นี่" ผมจึงออกไป และเริ่มต้นจากเด็กๆ ผมถ่ายรูปเด็กๆพวกนั้น แล้ววันต่อมาผมก็กลับมาพร้อมโปสเตอร์ แล้วเราก็แปะมันขึ้นผนัง ผมกลับมาดูมันในวันถัดมา รูปของผมเริ่มมีรอยขีดข่วน แต่ก็โอเคนะ ผมต้องการให้เขารู้สึกว่างานศิลปะเหล่านี้เป็นของพวกเขา


11:26
วันต่อมา ผมจัดประชุมที่จตุรัสของเมือง มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งเข้าร่วมประชุม และเธอทั้งหมดก็มีความสัมพันธ์กับเด็กที่ถูกฆ่า คนหนึ่งเป็นแม่ เป็นคุณยาย และเป็นเพื่อนสนิท พวกเขาอยากเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น หลังจากวันนั้น ทุกคนในสลัมแห่งนั้นก็อนุญาต ให้ผมถ่ายรูปอีก และเราก็เริ่มโปรเจกขึ้น พวกพ่อค้ายาเสพติดเป็นกังวล กับการที่เราไปถ่ายรูปในที่ของเขา ผมเลยบอกว่า "คุณฟังนะ ผมไม่สนใจที่จะถ่ายรูปความรุนแรง หรืออาวุธต่างๆ คุณเห็นพวกนั้นในสื่ออยู่แล้ว ผมอยากจะแสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของชีวิตคน และผมก็เห็นมันแล้วในสองสามวันที่ผ่านมา จริงๆนะ" รูปที่อยู่ตรงนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญมาก เพราะมันเป็นรูปแรกที่เราทำ ที่คุณไม่สามารถมองเห็นได้จากในตัวเมือง และนั่นเป็นที่ที่เด็กสามคนนั้นถูกจับกุมตัว และคนนั้นคือคุณยายของหนึ่งในเด็กเหล่านั้น และบนขั้นบันใดเหล่านั้น คือที่ที่พวกค้ายายืนอยู่เป็นประจำ และตรงนั้นเองก็มีการยิงกันตลอดเวลา ทุกคนที่นั่นเข้าใจโปรเจกนั้น หลังจากนั้นเราก็แปะรูปไว้ทุกที่ ทั้งเนินเขานั้นเลย


12:31
(เสียงปรบมือ)


12:41
ที่น่าสนใจก็คือ สื่อมวลชนเข้าไปในพื้นที่นี้ไม่ได้ คุณน่าจะเห็นแล้วนะ พวกสื่อต้องขึ้นฮ.เพื่อถ่ายรูปพวกเราจากระยะไกล ซึ่งเขาก็ต้องใช้เลนส์ซูมไกลๆ แล้วเราก็จะเห็นตัวเราเองบนทีวี พวกสื่อจะเขียนว่า "กรุณาโทรมาเบอร์นี้ ถ้าคุณรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นใน โปรวิเด็นเซีย เราเข้าไปทำโปรเจกนี้ แล้วก็หายตัวออกมา เพื่อที่ว่าสื่อจะได้หาตัวเราไม่เจอ แล้วเขาจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ข่าวมาล่ะ? พวกเขาก็ต้องเข้าไป ไปหาผู้หญิงเหล่านั้น ไปหาคำอธิบายจากพวกเธอ คุณก็ได้สร้างสะพานระหว่างสื่อมวลชน กับหญิงนิรนามเหล่านั้นเข้าให้แล้ว


13:14
เราก็เดินทางต่อไป เราเดินทางไปที่แอฟริกา ซูดาน เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย เคนย่า และในที่ที่บอบช้ำจากสงครามอย่างมอนโรเวีย ผู้คนจะพุ่งมาหาคุณเลยล่ะ เขาอยากรู้ว่าเรากำลังทำอะไร พวกเขาถามอยู่นั่นแหละ ว่า "จุดประสงค์ของโปรเจกคุณคืออะไร?" คุณเป็นเอ็นจีโอหรือ? คุณเป็นพวกสื่อมวลชนหรือเปล่า? ศิลปะครับ แค่คนสรรค์สร้างศิลปะ บางคนถามว่า "ทำไมต้องภาพขาวดำ? ฝรั่งเศสไม่มีสีสันเลยหรือไง?" (เสียงหัวเราะ) หรือพวกเขาจะบอกคุณ "คนในรูปพวกนี้ตายแล้วหรือ?" คนที่เข้าใจโปรเจกต์ ก็จะพยายามอธิบายให้คนอื่นฟัง ผมได้ยินคนหนึ่ง พูดกับอีกคนว่า "รู้ไหม คุณมาอยู่ที่นี่เป็นชั่วโมงแล้วนะ พยายามที่จะเข้าใจ พยายามถกเถียงกับเพื่อนๆ ระหว่างนี้ คุณลืมไปหรือเปล่า ว่าพรุ่งนี้คุณจะหาอะไรกิน นี่คือศิลปะ" ผมคิดว่าเป็นเพราะความอยากรู้ในตัวทุกคน ที่เป็นแรงผลักดัน ให้เขาเข้ามาอยู่ในโปรเจกนี้ ทันใดนั้นมันก็เป็นอะไรมากกว่าที่คิด มันกลายเป็นความต้องการ กลายเป็นความจำเป็น นี่เป็นสะพานในมอนโรเวีย อดีตกองกำลังกบฎช่วยเราแปะรูป ของผู้หญิงที่อาจถูกข่มขืนมาในช่วงสงคราม ผู้หญิงเป็นผู้เคราะห์ร้ายกลุ่มแรกเสมอ ไม่ว่าจะในความขัดแย้งใดก็ตาม


14:30
นี่คือไคบีรา ประเทศเคนย่า หนึ่งในสลัมที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา คุณอาจเคยเห็นรูปความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง ที่เกิดขึ้นในปี 2008 คราวนี้เราคลุมหลังคาบ้านเลย แต่เราไม่ได้ใช้กระดาษนะ เพราะว่ากระดาษกันฝนไม่ได้ น้ำจะรั่วเข้าบ้านเอา แต่ผ้าไวนิลกันฝนได้ ศิลปะก็มีประโยชน์ขึ้นมาทันตาเห็น ผู้คนก็เลยอยากเก็บรักษามันไว้ คุณรู้จักความรักไหม ยกตัวอย่างนะ เวลาคุณมองดวงตาที่ใหญ่โตพวกนั้น จริงๆในนั้นมีบ้านหลายหลังเลย ผมกลับไปที่นั่นไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รูปยังคงอยู่ แต่มีส่วนหนึ่งของดวงตาหายไป ผมเลยถามว่าเกิดอะไรขึ้น "อ๋อ บ้านนั้นเพิ่งย้ายออกไป" (เสียงหัวเราะ) ตอนที่เราขึงรูปบนหลังคา มีผู้หญิงคนนึงพูดขำๆว่า "ทีนี้พระเจ้าจะเห็นฉันแล้วล่ะ" เวลาคุณมองไปที่คิเบราตอนนี้ มันจะมองกลับมาที่คุณ


15:29
ต่อไปเป็นประเทศอินเดีย ก่อนที่ผมจะเล่า ขอเกริ่นอะไรหน่อย แต่ละครั้งที่เราไปที่ไหน เราไม่เคยติดต่อบริษัทท่องเที่ยว เราไปดั่งหน่วยคอมมานโด เราก็เป็นแค่กลุ่มเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามจะแปะรูปบนผนังต่างๆ แต่มีที่ที่คุณแปะบนผนังไม่ได้ อินเดียคือหนึ่งในที่เหล่านั้น ผมได้ยินมาว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมและกฎหมายของอินเดีย เราจะโดนจับกุมทันทีตั้งแต่ที่แปะรูปแรก เราเลยตัดสินใจ แปะสีขาว แปะสีขาวบนผนัง ลองนึกดู คนขาว แปะสีขาว ผู้คนก็ตรงเข้ามาถามเรา "คุณทำอะไรอยู่น่ะ?" "อ๋อ ก็แค่งานศิลปะน่ะ" "ศิลปะงั้นหรอ" แน่นอนว่าเขางงไปตามๆกัน แต่คุณรู้ใช่ไหม อินเดียฝุ่นเยอะแค่ไหน และยิ่งมีฝุ่นมากเท่าไหร่ ฝุ่นฟุ้งในอากาศ แทบจะเห็นฝุ่นได้เลยเมื่อมองกระดาษสีขาว เราก็ทำให้บางส่วนติดกาว เหมือนเวลาคุณทำสติ๊กเกอร์กลับด้าน ดังนั้น ยิ่งมีฝุ่นมากเท่าไหร่ รูปภาพก็จะปรากฎชัดยิ่งขึ้น ในวันต่อๆมา เราเดินผ่านกระดาษสีขาวเหล่านั้น ตอนนั้นมันกลายเป็นรูปแล้วล่ะ (เสียงปรบมือ) ขอบคุณครับ เราเลยไม่ถูกจับ


16:46
นี่คือวีดีโอ จากโปรเจก "ผู้หญิงคือฮีโร่" (เสียงเพลง) โอเค สำหรับแต่ละโปรเจก เราถ่ายวีดีโอเก็บไว้ และที่คุณเห็น นั่นคือโปรเจก "ผู้หญิงคือฮีโร่" รูปเหล่านั้น ถ่ายรูปไปเรื่อยๆ และรูปเหล่านั้นก็เดินทางต่อไปโดยไม่สนใจเรา (เสียงหัวเราะ) (เสียงปรบมือ) เมื่อคุณเห็นวีดีโอ คุณน่าจะเข้าใจถึงขอบเขต และเข้าใจความรู้สึกของคนที่เห็นรูปเหล่านั้น เพราะนั่นคือส่วนสำคัญ มันมีอะไรอยู่ภายใต้ภาพ แต่ละภาพมีเรื่องราวของมัน


18:30
"ผู้หญิงคือฮีโร่" ได้สร้างพลวัตใหม่ ในแต่ละชุมชน และแรงขับเคลื่อนนั้นก็คงอยู่ต่อไปหลังจากที่เรากลับออกมา เราทำหนังสือขึ้นมา โดยไม่คิดเงิน ที่ทุกชุมชนจะได้ไป แต่จะได้ไปนั้น เขาจะต้องขอลายเซ็นจากผู้หญิงในนั้นหนึ่งคน เราทำแบบนั้นเกือบทุกที่ เรากลับไปเป็นประจำ อย่างในสลัมของโปรวิเด็นเซีย เรามีศูนย์ควบคุมเราที่นั่น ในคิเบร่า เรามุงหลังคาเพิ่มขึ้นทุกๆปี เพราะเวลาเรากลับออกมา คนที่ไม่ได้เข้าร่วมบอกกับเรา "นี่คุณ แล้วหลังคาผมล่ะ?" เราจึงกลับไปที่นั่นในปีต่อมา และทำโปรเจกของเราไปเรื่อยๆ


19:08
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผม ก็คือ ผมไม่ใช้สปอนเซอร์เลย ดังนั้นผมไม่มีความรับผิดชอบต่อใคร นอกจากตัวผม และเป้าหมายของผม (เสียงปรบมือ) และนี่แหละ คือสิ่งที่สำคัญจริงๆในการทำงาน ผมคิดว่าทุกวันนี้ วิธีที่คุณทำงาน มีความสำคัญพอๆกับผลลัพธ์ที่คุณได้ และนั่นคือส่วนหนึ่งของการทำงาน และผมก็แบ่งแยกชัดเจน อะไรคือรูปภาพ อะไรคือโฆษณา เราแปะรูปขึ้นที่ลอส แองเจลลิส ในอาทิตย์หลังๆที่ผ่านมา ผมถูกเชิญให้ไปแปะรูปที่พิพิธภัณฑ์ MOCA แต่เมื่อวานเทศบาลโทรมาหาผม และบอกว่า "คุณครับ เราจะต้องเอารูปคุณลงนะ เพราะมันเรียกว่าเป็นโฆษณาได้ และด้วยกฎหมาย เราต้องเอารูปพวกนี้ลง" บอกผมหน่อยเถอะครับ โฆษณาให้อะไร?"


20:02
ผู้คนที่ผมถ่ายรูปมา ยินดีและภูมิใจที่เป็นส่วนนึงของโปรเจก และภูมิใจที่มีรูปพวกเขาในชุมชน แต่เขาขอร้องให้ผมสัญญาอย่างหนึ่ง พวกเขาขอร้องว่า "กรุณาให้เรื่องของเรา เดินทางไปกับคุณนะ" ผมก็ทำตามนั้น นี่คือปารีส นี่คือ ริโอ ในแต่ละสถานที่ เราสร้างนิทรรศการด้วยเรื่องราว และเรื่องราวก็ออกเดินทาง แล้วคุณจะเข้าใจขอบเขตของงาน นั่นคือลอนดอน นิวยอร์ค และวันนี้ รูปนั้นอยู่กับคุณที่ลองบีชนี้แล้ว


20:34
ในช่วงที่ผ่านมานี้ ผมเริ่มอีกโปรเจกหนึ่ง ที่ผมไม่ใช้งานศิลป์ของผมอีกต่อไป ผมใช้งานของแมน เรย์, เฮเลน เลวิตต์ เจียโกเมลลี่ และบุคคลอื่นๆ มันไม่สำคัญว่านี่คือรูปของคุณหรือเปล่า ความสำคัญอยู่ที่ว่า คุณทำอะไรกับรูปเหล่านั้น เรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อคุณแปะมัน ยกตัวอย่าง ผมแปะรูปของมินาเรต์ (หอสูง) ในสวิสเซอร์แลนด์ ไม่กี่อาทิตย์หลังจากที่กฎหมายห้ามให้มีมินาเรต์ในประเทศ (เสียงปรบมือ) อันนี้เป็นรูปชายสามคน ใส่หน้ากากกันสารพิษ ถูกถ่ายในเชอร์โนบิล ผมไปแปะไว้ที่ตอนใต้ของอิตาลี ในที่ที่เหล่ามาเฟียฝังขยะไว้ใต้ดิน


21:24
ในบางมุม ศิลปะก็เปลี่ยนโลกได้ ศิลปะไม่ได้ทำให้เปลี่ยนโลก ในทางปฏิบัติ แต่เปลี่ยนมุมมองของคนได้ ศิลปะสามารถเปลี่ยน มุมมองที่เรามองต่อโลกใบนี้ ศิลปะสามารถสร้างการเปรียบเทียบ ด้วยเหตุผลที่ศิลปะไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ ทำให้มันเป็นสถานที่ที่เป็นกลาง สำหรับการแลกเปลี่ยน และการสนทนา มันทำให้ตัวคุณไปเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ เวลาที่ผมทำงานของผม ผมได้รับเสียงตอบรับสองแบบ ผู้คนพูดว่า "ทำไมคุณไม่ไปอิรักหรืออัฟกานิสถานล่ะ คงจะมีประโยชน์มากๆเลยนะ" หรือ "เราจะช่วยคุณได้ยังไง" ผมคิดว่าพวกคุณอยู่ในกลุ่มที่สอง และนั่นเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าโปรเจกต่อไปนี้ ผมจะขอให้คุณช่วยกันถ่ายรูป แล้วแปะมันขึ้นมา


22:14
ความปราถนาของผมก็คือ: (เลียนเสียงรัวกลอง) (เสียงหัวเราะ) ผมขอให้คุณลุกขึ้นสู้ เพื่อสิ่งที่คุณห่วงใย โดยการร่วมลงมือในโปรเจกศิลปะระดับโลก แล้วพวกเราจะร่วมกันพลิกโลกใบนี้ จากหน้ามือเป็นหลังมือ เริ่มตั้งแต่บัดนี้ ใช่ครับ ทุกคนในห้องนี้ และทุกคนที่ดูอยู่ ผมอยากให้คำปรารถนาของผม เริ่มตั้งแต่บัดนี้เลย สิ่งที่คุณกระตือรือร้น หรือคนที่คุณอย่างจะเล่าเรื่องเขา หรือรูปของคุณเองก็ได้ ให้สิ่งเหล่านั้นบอกผมหน่อย ว่าคุณยึดมั่นกับสิ่งใด จงถ่ายรูปเข้ามา อัพโหลดรูปขึ้นมา เดี๋ยวผมจะบอกรายละเอียดทั้งหมด แล้วผมจะส่งรูปที่ปริ้นแล้วกลับไปให้คุณ ร่วมจัดตั้งกลุ่ม แล้วเปิดเผยเรื่องของคุณให้โลกเห็น รายละเอียดทั้งหมดอยู่ในเว็บไซต์ insideoutproject.net ซึ่งจะเปิดตัวในวันนี้


23:13
สิ่งที่เราเห็นจะกำหนดสิ่งที่เราเป็น และเมื่อเราร่วมมือกัน ผลลัพธ์มันยิ่งใหญ่กว่าผลรวมของน้ำพักน้ำแรงทุกคนเสียอีก ดังนั้น ผมหวังว่า เราจะได้สร้างบางสิ่งบางอย่าง ที่โลกจะจดจำเอาไว้ และสิ่งนี้เริ่มตั้งแต่บัดนี้ มันขึ้นอยู่กับคุณแล้วล่ะ


23:28
ขอบคุณครับ


23:30
(เสียงปรบมือ)

 ( Credit ข้อมูล : Youtube.com , Ted.com )